การเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ
ในระบบการศึกษา
การศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติในรั้วโรงเรียนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมปลาย นับเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะปลูกฝังความรู้และเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน
วิวัฒนาการการเรียนรู้ภัยพิบัติในระบบการศึกษาของญี่ปุ่นสมัยใหม่
ยุคเมจิถึงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในยุคการปฏิรูปเมจิได้มีการปฏิรูปการศึกษาให้ทัดเทียมชาติตะวันตก โดยได้มีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติไว้ในรายวิชาต่างๆ และมุ่งเน้นไปยังการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนมากกว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปกป้องประชาชน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ในปี 1947 หลังสูตรการเรียนได้เปลี่ยนจากการมุ่งสอนเชิงทฤษฎีเพียงอย่างเดียว มาเน้นเสริมสร้างประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการรับมือกับภัยพิบัติ สร้างความเข้าใจท้องถิ่นที่ตนอาศัย ตลอดจนการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น อีกทั้งมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับภัยพิบัติ โดยบางวิชามีสัดส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติถึง 1 ใน 6 ของเนื้อหา นับเป็นยุคที่โบไซเคียวอิคุมีมาตรฐานสูงมากยุคหนึ่งของญี่ปุ่น
ช่วงพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการให้ทัดเทียมชาติตะวันตกเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ อีกทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานมีเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทำให้ตั้งแต่ปี 1951 เนื้อหาเกี่ยวกับภัยพิบัติถูกตัดทอนออกจากตำราเรียนเป็นระยะๆ โดยพบว่าตำราเรียนในปี 1989 มีเนื้อหาเกี่ยวกับภับพิบัติเพียงเล็กน้อย เหลือเพียงเรื่องการฝึกซ้อมการอพยพหนีภัย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวฮันชินอาวาจิในปี 1995
แผ่นดินไหวในปี 1995 นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ซึ่งสร้างบทเรียนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน หลายโรงเรียนทั่วญี่ปุ่นจึงกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องภัยพิบัติ และทบทวนแนวทางการเรียนการสอนเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติอย่างจริงจัง
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณภาคตะวันออกของญี่ปุ่นในปี 2011
ภายหลังแผ่นดินไหวในปี 2011 ได้มีการกำหนด “แผนการส่งเสริมความปลอดภัยภายในโรงเรียน” โดยระบุให้โรงเรียนมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของนักเรียน โดยต้องให้ทั้งความรู้ และแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพในการช่วยเหลือตนเอง ตลอดจนการช่วยเหลือกันและกัน
ภายหลังในปี 2013 รัฐบาลได้สนับสนุนให้ปรับแก้คู่มือประกอบการให้การศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1998 โดยกำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

ลักษณะการศึกษาการป้องกันภัยพิบัติในโรงเรียน
ในปัจจุบันการจัดทำเนื้อหาและรูปแบบถือเป็นหน้าที่ข้อหนึ่งของโรงเรียนที่จะดำเนินการจัดการ โดยแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลและกำหนดรูปแบบเนื้อหาการเรียนการสอนของโรงเรียนในท้องที่ของตน เนื่องจากความแตกต่างทางสภาพภูมิศาสตร์ รวมถึงลักษณะเด่นของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป ในขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ
- การเรียนโดยสอดแทรกเนื้อหาอยู่ในแต่ละรายวิชา
- การเรียนในชั่วโมงเรียนที่จัดขึ้นมาเป็นพิเศษ
แม้ไม่มีการระบุวิชาเกี่ยวกับภัยพิบัติให้เป็นวิชาหลักที่นักเรียนต้องเรียน แต่มีการนำเนื้อหาเกี่ยวกับภัยพิบัติสอดแทรกอยู่ในเกือบทุกวิชา เช่น
- นำเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการเกิดภัยธรรมชาติ ใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์
- นำเนื้อหาเกี่ยวกับกิจกรรมการกู้ภัยของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา
- นำกิจกรรมการฝึกปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติมาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวิชาพลศึกษา
พยายามนำเนื้อหาเกี่ยวกับภัยพิบัติใส่ลงในกิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียน เช่น โฮมรูม กิจกรรมชมรม งานกีฬาหรือกิจกรรมวิชาการประจำปี รวมถึงการพานักเรียนไปทัศนศึกษายังสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ตลอดจนกิจกรรมที่มุ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กในโรงเรียนกับชุมชนโดยรอบเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน