ณ เวลา 14.46 น. เกิดแผ่นดินไหวทางฝั่งตะวันออก มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งคาบสมุทรโอชิกะ ภูมิภาคโทโฮกุ ขนาดแรงสั่นสะเทือน 9 ริคเตอร์
หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงกว่า 40.5 เมตรตามมาในจังหวัดอิวาเตะ ฟุกุชิม่า มิยากิ และอิบารากิ
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant)โดนคลื่นสึนามิซัดทำให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินหยุดทำงาน ส่งผลให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนหลอมละลาย
เกิดการระเบิดของไฮโดรเจนที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ
ประกาศให้พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 20 กิโลเมตรเป็นพื้นที่หวงห้าม
เกิด Aftershock ตามมามากกว่า 900 ครั้ง
แผ่นดินไหวในครั้งนั้นสร้างมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
นับเป็นภัยพิบัติที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดในโลก
“แผ่นดินไหวในครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถยับยั้งการเกิดภัยพิบัติได้”
ー ดร.นรีนุช ดำรงชัย
ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่นในปี 2011 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เพิ่มมาตรการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติมากกว่าที่เคยเป็น ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้กฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับภัยพิบัติ การส่งเสริมความทนทานของสิ่งก่อสร้าง และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถติดต่อสื่อสารได้แม้ยามเกิดภัยพิบัติ
รวมไปถึงบทเรียนสำคัญที่ว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะปกป้องมนุษย์จากภัยธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนมากกว่าที่เคย เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความตระหนักต่อภัยพิบัติอย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘จิโจะ (自助)’ ‘เคียวโจะ (共助)’ และ ‘โคโจะ (公助)’
‘จิโจะ’ หรือการดูแลช่วยเหลือตนเองที่ประชาชนแต่ละคนจำเป็นจะต้องติดตามประเมินสถานการณ์ และเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือกับภัยที่เกิดขึ้น
แต่ในบางสถานการณ์การช่วยเหลือตนเองอาจไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของ ‘เคียวโจะ’ หรือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะในสถานการณ์ที่ภัยพิบัติสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง หน่วยงานของรัฐอาจไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นความช่วยเหลือที่เร็วที่สุดจึงเป็นการช่วยเหลือจากชุมชน
ในขณะที่ ‘โคโจะ’ หรือการช่วยเหลือจากภาครัฐที่มักจะมีความล่าช้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะตกเป็นผู้ประสบภัยด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งต้องมุ่งไปยังการกู้ชีพและกู้ภัยที่ร้ายแรงต่อชีวิตเป็นอันดับแรก
ดังนั้นภาครัฐจึงพยายามผลักดันแนวความคิดจิโจะและเคียวโจะให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในวิธีสำคัญคือการสนับสนุน ‘โบไซเคียวอิคุ’ หรือการศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ ทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาสำหรับประชาชน