lessons from 311

การเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ

นอกระบบการศึกษา

ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่างร่วมมือกันพัฒนาแผนฝึกซ้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติให้น่าติดตามและสมจริงมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็พัฒนาสื่อที่หลากหลายและเข้าถึงง่าย เพื่อให้ประชาชนหันมาสนใจและตระหนักถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ

การฝึกซ้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ

การฝึกซ้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในโรงเรียน แต่ยังมีการพัฒนาและสร้างสรรค์การฝึกซ้อมแผนอีกหลายรูปแบบเพื่อรองรับข้อจำกัดต่างๆ ของประชาชน ทั้งในเรื่องของพื้นที่และอุปกรณ์ รวมไปถึงมีความสนุก น่าติดตาม และสมจริง

ตัวอย่างการฝึกซ้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ

การฝึกซ้อมแผนแบบ DIG (Disaster Imagination Game)

การฝึกซ้อมแผนแบบ DIG (Disaster Imagination Game)

เป็นการฝึกซ้อมการจินตนาการสถานการณ์ และการรับมือกับภัยพิบัติบนโต๊ะ โดยเป็นการฝึกซ้อมผ่านการใช้แผนที่ร่วมกัน ภายใต้สถานการณ์ที่กำหนด (ภาพจาก blog.ohorikouen.jp)

การฝึกซ้อมแบบ HUG (Hinanzyo Unei Game)

การฝึกซ้อมแบบ HUG (Hinanzyo Unei Game)

เป็นการฝึกซ้อมการบริหารจัดการศูนย์อพยพ ผ่านการจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริงในศูนย์อพยพ (ภาพจาก tdmtc.tokyo)

เกมส์ทอยลูกเต๋าป้องกันภัย

เกมส์ทอยลูกเต๋าป้องกันภัย

แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายทอยลูกเต๋า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายตอบ หากฝ่ายใดตอบคำถามเกี่ยวกับภัยพิบัติได้จนไปถึงเส้นชัยก่อนฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ (ภาพจาก raku-uru.jp)

แนวทางการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติของภาครัฐ

นอกจากการให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้เกี่ยวกับการฝึกซ้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ โดยร่วมมือกับองค์กรในภาคส่วนต่างๆ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ

เว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และท่องเที่ยว กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการอธิบายรายละเอียด พร้อมให้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วน เช่น แผ่นพับ ใบปลิว หนังสือ รายงานสถิติ ผลการสำรวจและการวิจัย

ภายใต้การสนับสนุนการจัดทำโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาชัดเจนและมีภาพประกอบที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย ตัวอย่างเช่น

สำนักงานคณะรัฐมนตรีได้จัดทำเว็บไซต์ “จำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ” ซึ่งจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวระดับ 6 ในรูปแบบและสถานการณ์ที่หลากหลาย เช่น ในห้อง บนรถไฟ ในสถานีรถไฟใต้ดิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเชื่อมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไว้ในเว็บไซต์เดียว เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ สามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อไปได้อีกด้วย

  • สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบของรายงานสภาวะภัยพิบัติในแต่ละปีของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แผ่นพับ ใบปลิว หรือหนังสือเพื่อประชาสัมพันธ์ หรือเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับภัยพิบัติ ตลอดจนสื่อมัลติมีเดียในรูปแบบของซีดี ดีวีดี แจกจ่ายให้กับประชาชน
  • สื่อโทรทัศน์ออนไลน์ รัฐบาลมีการจัดทำรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้กับประชาชนโดยตรง เช่น การดำเนินงานของรัฐบาล สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
  • สื่อโซเชียลมีเดีย และข้อความทางโทรศัพท์ (Area Mail) รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสื่อสองประเภทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นการสื่อสารกับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

นอกจากนี้ยังมี ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ หรือ โบไซเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ในหลายเมืองทั่วประเทศญี่ปุ่น เช่น เกียวโต ฟุคุโอกะ ซับโปโร ฯลฯ เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายในศูนย์ฯ มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่สามารถเรียนรู้ และลองมีประสบการณ์กับภัยพิบัติได้จริง รวมถึงมีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย และสถานอพยพเมื่อเกิดภัยในพื้นที่นั้นๆ

ภาพจากโบไซเซ็นเตอร์ จังหวัดโยโกฮาม่า (bo-sai.city.yokohama.lg.jp)